ประวัติพระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

พระกริ่งชินบัญชร วัดละหารไร่ จ.ระยอง วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวระยองและพุทธศาสนิกชน ทั่วไป คือ “หลวงปู่ทิม อิสสริโก” พระเกจิที่บำเพ็ญเพียรจนถึงซึ่ง “อภิญญาณ” มีพุทธาคมสูงส่ง แต่รักสันโดษ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีความสมถะ ไม่ยินดียินร้ายต่อรูป รส กลิ่น เสียง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ

นับเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระบวรพุทธศาสนา ที่สมควรนำมาเป็นแบบอย่างยิ่งนัก วัตถุมงคลของท่านมีมากมายหลายประเภท ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาของบรรดาพุทธศาสนิกชน ด้วยปรากฏพุทธคุณเข้มขลัง

หลวงปู่ทิม อิสสริโก เป็นชาวบ้านค่าย จ.ระยอง เกิดเมื่อปี พ.ศ.2422 ศึกษาร่ำเรียนหนังสือเมื่ออายุ 17 ปี กับท่านพ่อสิงห์ที่วัดใกล้บ้าน พออายุ 20 ปี ได้รับคัดเลือกเป็นทหาร รับราชการทหารอยู่ 4 ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 27 ปี ในปี พ.ศ.2449 ที่วัดละหารไร่ โดยมีพระครูขาว วัดทับ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “อิสสริโก”

ศึกษาพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมที่วัดละหารไร่ได้ 1 พรรษา ก็เริ่มออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ร่ำเรียนวิทยาคมกับพระเกจิอาจารย์และฆราวาสผู้มีวิทยาคมสูงจนมีพุทธาคมแกร่ง กล้า จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดละหารไร่ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส หลังจากนั้นท่านก็ไม่ยอมรับตำแหน่งใดๆ ที่ทางเจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งมาเลย อาทิ ในปี พ.ศ.2478 แต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน เจ้าคณะอำเภอก็ต้องไปรับแทน

แม้ในปี พ.ศ.2507 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนาภิวัติ ท่านก็ไม่ยอมรับ จนชาวบ้านต้องจัดขบวนแห่ไปรับหมายตราตั้งและพัดยศจากเจ้าคณะจังหวัด เพื่อมามอบให้ท่าน แต่ท่านก็หาได้สนใจ พัดยศก็เอาไปเสียบไว้ข้างฝากุฏิ จนเมื่อท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2518 ลูกศิษย์จึงได้นำพัดยศมาตั้งหน้าศพ ปรากฏว่าถูกปลวกกัดกินจนบางส่วนแหว่งไป

ชื่อเสียงและเกียรติคุณในความเป็นพระเกจิที่มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ และความเป็นสมถะ ละเว้นซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้ หลวงปู่ทิม อิสสริโก มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพ ศรัทธามากมาย วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่แสวงหาและหวงแหนยิ่งนัก “พระกริ่งชินบัญชร” เป็นหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมสะสมและแสวงหาอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระ เครื่องและเหรียญคณาจารย์ครับผม

พระกริ่งชินบัญชร ประกอบพิธีเททองหล่อที่วัดละหารไร่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2517 หลังจากนั้นหลวงปู่ทิมก็ปลุกเสกเดี่ยวอีก 7 วัน 7 คืน แต่ในช่วงที่พระออกใหม่ๆ ผู้จองต่างก็ผิดหวังเพราะองค์พระไม่ค่อยสวยงาม บางคนจึงนำกลับมาคืน หลวงปู่ให้รับไว้และบอกว่า “รับไว้เถิด อีกหน่อยพลิกแผ่นดินหา ก็ไม่เจอ” แล้วก็เป็นไปตามคำของหลวงปู่ เนื่องจากต่อมาไม่นานผู้บูชาต่างประจักษ์ในพุทธคุณ กลับมาขอเช่าบูชากันอีกเป็นจำนวนมาก

พระพุทธลักษณะของพระกริ่งชินบัญชร ถอดแบบมาจากพระกริ่งใหญ่ของราชวงศ์ถัง องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางสะดุ้งมารหรือปางมารวิชัย บนโพธิบัลลังก์บัวสองชั้น แปดกลีบ ด้านหลังไม่มีบัว องค์พระอวบอ้วน พระหัตถ์ซ้ายทรงวัชระ พระหัตถ์ขวาอยู่เหนือพระชานุ พระพักตร์อิ่มเอิบ พระโอษฐ์เม้มสนิท พระกรรณยาวจรดพระพาหา พระเกศาเป็นเม็ดกลม ใต้ฐานปิดด้วยแผ่นทองคำ เงิน หรือทองแดง ทุกองค์มีหมายเลขกำกับ และตอกโค้ดที่ด้านหลัง ประวัติพระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่จัดสร้างทั้งหมด 6 ประเภท คือ

1.เนื้อสุวรรณชมภูนุต หรือเนื้อทองคำ

2.เนื้อนวโลหะ หุ้มก้นด้วยแผ่นทองคำ รุ่นพิเศษ

3.เนื้อนวโลหะ ก้นเงิน

4.เนื้อนวโลหะ ก้นผงพรายกุมาร

5.เนื้อนวโลหะ ก้นทองแดง เนื้อพิเศษ

แต่ละประเภทยังถูกจำกัดด้วยจำนวนการสร้าง และการตอกโค้ด ทำให้พระกริ่งชินบัญชรของหลวงปู่ทิม ค่อนข้างยากพอควรที่จะแยกแยะพิจารณาว่าแท้หรือไม่ จึงขอแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะหาไว้สะสมว่า ให้สอบถามผู้รู้จริงๆ และไว้วางใจได้จะเป็นการดีที่สุดครับผม

ที่มา
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
โดย ราม วัชรประดิษฐ์ http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdPREkzTVRJMU13PT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1DMHhNaTB5Tnc9PQ==